บาเจาะ-สุไหงโก-ลก

ส่งต่อมิตรภาพ บาเจาะ ตากใบ สุไหงโก-ลก

เริ่มจากเมื่อปีก่อนมาปั่นจักรยานที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ทำให้ได้มีโอกาสรู้จักน้องคนหนึ่งที่เป็นคนท้องที่บาเจาะ ทริปนี้เหมือนกลับไปหาน้อง ครบ 1 ปีพอดี ทีแรกตั้งใจไปฮาลาบาลา แต่พอสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ถึงรู้ว่าเวลานี้น้ำขึ้นสูง ต้องรอ พ.ค. ถึงจะเข้าไปได้ แผนเลยเปลี่ยนเป็นไม่มีแผน การเดินทางแบบนี้ชวนใครก็ยากมาก เพราะแผนคือไม่มีแผน แล้วแต่ว่าจะเจอใคร เจออะไร รู้แค่วันเดินทาง

ขอต้อนรับการกลับมาของ แจนแจน ผู้ร่วมทริปไม่มีแผน มีแค่ความเข้าใจ ทริปนี้เราไปแบบ backpack เป้ 1 ใบ กับรองเท้าคู่ใจ จากหาดใหญ่พวกเราสองคนต่อรถตู้ไปลงบาเจาะ ต้องขอบคุณพี่ฮวงมากๆ ที่พาน้องไปเลี้ยงข้าวและส่งถึงท่ารถ แม้ว่างานจะยุ่งก็ยังแบ่งเวลามาดูแล สามชั่วโมงกับบรรยากาศความร่มรื่นของต้นไม้สองข้างทาง และ ผู้คน โอ้ว…ปักษ์ใต้บ้านเรา

เรียกคนขับลุงๆ ไม่มีเสียงตอบ ได้ยินอีกคนเรียกแบขานรับทันที อ๋อ “แบ แบ” จอดบาเจาะด้วยนะคะ ลงมายืนที่เดิม ที่ปีก่อนแค่ปั่นผ่าน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ชุดเหมือนทหารเข้ามาทักทาย ดูเป็นมิตรมากมาย ระหว่างคุยกันก็เห็นชาวบ้านเอาของกินมาแบ่งให้ แจนเลยแบ่งมะม่วงเบาที่ได้เป็นของฝากจากหาดใหญ่ให้พี่ทหารกระปุกนึงด้วย

มาแล้วครับ โทษทีที่ให้รอนะครับ พอดีพี่เขยบอกให้เอารถมารับ คนนี้น้องสาวผม ส่วนคนนี้หลานครับ พี่ๆขึ้นรถเลยครับ ขึ้นรถไปแบบว่ายังไม่รู้เลยว่าน้องจะพาไปที่ไหน ขึ้นไปก่อนละกัน ทุ่งนาบ้านผมสวยไหมครับ ช่วงนี้เริ่มเปลี่ยนสีแล้วก่อนหน้ายังเป็นสีเขียวหมดเลย ลานตรงนี้พวกผมใช้ซ้อมบอลครับ เด็กๆแถวนี้เรียนใกล้บ้าน ยามเช้าก็ปั่นจักรยานมาคนละคัน

เจ้าถิ่นบาเจาะที่ควบรวมหลายตำแหน่ง เท่าที่ได้รู้จักเลยตั้งให้อีกตำแหน่ง “ฑูตเยาวชน” น้องชื่อ mahamazulkiflee เราเรียกสั้นๆจำง่ายๆว่า “ลี” เดิมน้องเล่าว่าเขาเป็นเด็กเกเรที่สุดของที่สุด ใครๆก็รู้จักโดยเฉพาะเด็กๆแถวนี้ สั่งซ้ายหันขวาหันได้เลย ฟังแล้วแทบไม่น่าเชื่อ เพราะที่เห็นวันนี้ เป็นพี่ชายที่อบอุ่นของน้องๆ สอนน้องเล่นกีฬา เล่นดนตรี เป็นตัวอย่างที่ดีให้น้องๆได้เดินตาม ขยันทำงาน มีวินัยซ้อมกีฬา หาโอกาสหาเวทีหาพื้นที่พาน้องๆไปออกงานแสดงความสามารถ ผมขอแวะไปทักทายเด็กๆที่สนามแป๊บนะครับ

ตลอดเส้นทางเราผ่านทุ่งนา ผ่านชุมชน ถนนแถวนี้เพิ่งทำเสร็จปีที่แล้ว มีคนมาปั่นจักรยานตอนเช้าๆเยอะเลย เพราะเรียบมาก วิวก็ดีด้วย ถ้าเจ้าถิ่นไม่พามาก็หาบ้านไม่เจอแน่ หมู่บ้านนี้มีถึง 300 หลังคาเรือน ปลูกกันแบบบ้านกลางสวน คืนต้องผ่านสวนเข้าไปถึงเจอบ้าน รอบๆมีพื้นที่ให้เด็กๆวิ่งเล่นกับธรรมชาติ ไม่ต้องห่วงว่ารถจะเฉี่ยวชน เด็กในชุมชนเยอะมาก เขาเล่นกันแบบไม่ต้องมีของเล่น เล่นกันเองกับต้นไม้ใบหญ้า และ ไก่ วิ่งไปวิ่งมา ยิ้ม หัวเราะ ดูน่าสนุกมาก แต่คุยด้วยไม่รู้เรื่อง ด้วยภาษาพูดสื่อไม่ได้ใช้ภาษากายแทน แค่ยิ้มก็สื่อความหมาย

บ้านกลางสวน ไม่ต้องมีกุญแจ ไม่ต้องล็อกประตู ไม่ต้องติดประตู ที่เห็นรอบๆ รู้จักกันหมด เป็นญาติกันทั้งนั้น เช่นเดียวกับผลไม้ที่นำมาวางให้ทานก็ปลูกแถวๆนี้ แตงโมบาเจาะ กล้วยบาเจาะ คุณแม่ทำอาหารให้อยู่ในครัว ยกมาเป็นถาด คิดว่าทานกันทั้งครอบครัว ว้า….ต้องนั่งกินกับแจนสองคน เพราะมารยาทที่นี่ แขกต้องกินให้อิ่มก่อนเจ้าบ้านถึงจะกิน ชวนหลายทีก็ตอบแบบนี้ เราสองคนต้องรีบกินแล้วสิ ลีและน้องๆจะได้กินบ้าง

คืนนี้เราไปพักรีสอร์ท เป็นของคนพื้นที่ เรามาถึงปัตตานีแค่ไม่กี่นาที เพราะพื้นที่ติดกัน “หาดป่าไหม้” คืนนี้เด็กๆมากันเยอะมาก เจ้าของก็ใจดี เช่า 1 หลัง / 1 ห้อง จะนอนกี่คนก็ได้ ตรงข้ามบ้านเลยมีเด็กนับสิบมาฉลองจบการศึกษา และ ลีก็รู้จักพวกเขา เป็นรุ่นน้องที่โรงเรียน ลีมาส่งแล้วก็กลับไปสนามคัดตัวนักฟุตบอล ปล่อยให้เราสองพักผ่อนตามสบาย เมื่อวัยรุ่นรวมตัว เสียงดนตรี ก็ขาดไม่ได้ ฟังทั้งคืนจนเช้า รู้แต่ว่า น้องๆ ร้องเพลงเพราะ ร้องได้ทุกเพลง แม้ว่าจะเป็นเพลงในยุคที่น้องยังไม่เกิดก็ตาม

ยามเช้าลีมาเคาะประตูห้องพร้อมข้าวยำ 2 ห่อ และโรตี 4 อัน แค่ข้าวยำก็อิ่มมากแล้ว โรตีไม่สามารถ เอาไว้มื้อกลางวันแล้วกันนะ ได้ยินเสียงกระดิ่งรถไอติมผ่านมา เด็กกรูเข้าหา สงสัยอากาศร้อนเลยอยากกินไอติม แจนแจนบอกว่าน้องให้ใจขนาดนี้ทริปนี้พี่เลี้ยงเอง นับรวมกันได้ 12 ถ้วย เก้าโมงเราจะไปน้ำตกกันครับพี่ๆ เพื่อนผมไปด้วย

ถูกใจแจนแจนเขาเลยละได้บิดมอเตอร์ไซด์ มองไปข้างหน้าเป็นภูเขาลูกโต สองข้างทางเป็นทุ่งนากับชาวนา ที่แรกไปแวะน้ำตกปาโจ อยู่ในอุทยานแห่งชาติบูโด เจ้าหน้าที่จำพวกเด็กๆได้เพราะมาทุกวัน ลีลากระโดดน้ำของแต่ละคนสะท้อนความผูกพันกับพื้นที่อย่างเข้าใจว่าตรงไหนตื้นลึกตรงไหนต้องระวัง แม้กระทั่งเด็กเล็กที่ใช้ล่องหินเป็นสไลด์เดอร์ ปีนป่ายบนหิน เป็นของเล่นที่ธรรมชาติสร้างให้ สนุกแบบเติมเต็มข้างในจิตใจ รับพลังจากป่าไปแบบไม่รู้ตัว

เล่นน้ำตกออกมาก็ไปเกาะตู้ไอติมอีกแล้ว อยากกินไอติมหรือไปจีบคนขายกันนะ แจนแจนอยากดื่มชา ลีพาไปร้านใกล้ๆกับที่ลงรถตู้ ถึงรู้ว่า น้ำตกกับบ้านลีใกล้กันแค่นี้เอง ลีสอนวิธีสั่งเครื่องดื่ม แต แตออ ต่างกันตรง แตออใส่น้ำตาล ไมโลก็ต้อง ไมโลออ เติมพลังกันคนละแก้วแล้วไปต่อ สมาชิกแก๊งไอติมเริ่มแยกตัว เพราะลีจะพาไปมัสยิด 300 ปี และวัด ไปดูพระองค์โต ชื่อที่ใช้เช็คอินเขาเรียกว่า พุทธมณฑล นราธิวาส บ่ายสองแล้วไม่หิวกันเลยหรอ มื้อเช้าจัดเต็มเพราะลากยาวแบบนี้เอง รู้งี้กินโรตีด้วยก็ดี

เราจะไปแวะจุดชมวิวก่อนเข้าไปหาอะไรกิน เป็นทางขึ้นเขา ที่ไม่ใช่ทางผ่าน แต่ตั้งใจไปแวะ ข้ามเขานี่ไปแค่ 15 กม. ก็ยะลาแล้ว เที่ยวสามจังหวัดได้สบายเลย แค่บิดสุดๆไต่เขาขึ้นไปถ่ายรูปแล้วลงมา ไปหาดกันต่อ แก๊งไอติมกลับมารวมตัวเป็นสิบสองอีกครั้ง ที่ริมหาดนราทัศน์ ลีขอตัวไปหาสะเต๊ะร้านอร่อย แบบว่าเวลามีจำกัดผมอยากให้พี่ๆ นั่งชมบรรยากาสแถวนี้ดีกว่า คึกคักด้วยร้านค้าและผู้คน เท่าที่สังเกตุกลุ่มวัยรุ่นที่มาหาด เหมือนว่าชายหญิงแยกกันเที่ยว กลุ่มผู้หญิงก็ไม่มีผู้ชาย กลุ่มผู้ชายก็ไม่มีผู้หญิง

จากนี้ไปเราต้องทำเวลาแล้วครับ ผมไม่อยากให้ไปถึงดึก แต่เรายังจะแวะเกาะยาวใช่ไหมครับ ไปสิแจนแจนยังไม่เคยมาตากใบ มาถึงที่นี่จะอยู่แค่สะพานคงไม่พอต้องไปให้สุด ไปยืนถ่ายรูปกับธงชาติริมทะเล ใช่แบบที่แจนแจนบอกเลย ใต้ร่มธงไทยนั้นพวกเราทุกคนคือไทย ท้องฟ้ากับพื้นทรายและธงชาติไทย มุมนี้มุมเดียวก็ใช้เวลาไปหลายนาที ภาพเดี่ยว ภาพคู่ ภาพหมู่ ภาพวิว พระอาทิตย์ค่อยๆคล้อยต่ำ ใกล้จะลาลับ

ต้องทำความเร็วขึ้นนะครับ อีก 30 กม. เราจะถึงสุไหงโก-ลก บิดกันยาวๆ จนถึงจุดหมาย เติมพลังก่อนแยกเข้าที่พักที่ร้านโรตี วัยรุ่นที่นี่กินน้อยกันแบบว่าพี่ยังหิวอยู่เลย น้องกินแค่ โรตีราดนมกับแตออ ก็อิ่มแล้วหรอ เป็นอาหารมื้อเย็นเลยหรอ หุ่นดีกันทุกคนเพราะแบบนี้เอง พรุ่งนี้แก๊งไอติมจะกลับไปแข่งบอล เราเลยลากันล่วงหน้าที่นี่ เปิดดูที่พัก ที่ไหนๆก็เต็ม ช่วงเทศกาลคนมาเลเข้ามาเที่ยวเล่นน้ำกัน ปีที่แล้วมาปั่นพี่กุงบอกว่าถ้ามาให้โทรหา พอโทรไปพี่ถามว่ามากี่คน แล้วพักที่ไหน มากินข้าวด้วยกันไหม มาพักที่นี่ก็ได้พี่จองให้

พี่กุง สุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก จากที่ฟังพี่คุยงาน และร่วมงาน พี่ใช้ใจแลกใจดูแลพื้นที่ซึ่งคนนอกมองมันตามข่าว แต่เราสองมองตามพี่เล่าที่นี่คือบ้าน บ้านที่ทุกคนอยากใช้ชีวิต ทำมาหาเลี้ยงชีพ บนความต่างของศาสนา พี่ใช้วิธีเดินเข้าไปในพื้นที่ด้วยรอยยิ้มและความจริงใจ รับฟัง ปรับปรุง สนับสนุน เราในฐานะนักท่องเที่ยว เลยลองไปถามคนที่นี่ว่ารู้สึกอย่างไร คำตอบที่ได้คือ พี่เขาอัธยาศัยดี ยิ้ม เข้าหาได้ง่าย ทำแบบที่คนพื้นที่เขาทำ กินแบบคนชาวบ้านเขากิน เล่นกับเด็ก มีความนอบน้อมกับผู้ใหญ่ มีความเป็นกันเองมากๆ

เราในฐานะนักท่องเที่ยว เพียงแค่มาสุไหงโก-ลก แค่ครั้งเดียว เหมือนมีญาติเพิ่มอีกคน พี่คอยโทรหาถามว่ากินข้าวหรือยัง มากินด้วยกันไหม อยากไปเที่ยวไหน พอบอกว่าจะไปป่าพรุ พี่ก็มารับไปส่ง พอบอกว่าอยากไปกันเองอยากหารถเช่า พี่บอกให้ไปเอารถที่บ้านได้ จักรยานถ้าอยากปั่นก็มาเอาของพี่ได้ ที่นี่ไปไหนก็ได้ กี่โมงก็ได้ เราสองคนได้ออกไปวนชมเมืองและตลาดยามค่ำ เดินเล่นถนนคนเดิน ก่อนเข้าที่พัก ยามเช้าพี่พาเราเข้าชุมชนไปชิมอาหารมุสลิม ร้านที่ไม่มีในรีวิว แต่เป็นร้านที่ต้องรอจากการต่อคิวของคนพื้นที่ แล้วก็พาไปวาเลนไทน์พันธุ์ไม้ ได้ฟังเรื่องเล่ากว่าไปรษณีย์จะยอมรับส่งต้นไม้ รู้ไหมเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไปรษณีย์เขาไม่รับส่งต้นไม้ พี่ต้องไปขอกับคนที่ดูแล บอกว่าผมจะไม่เครม ไม่ต่อว่า คุณจะโยนแบบไหนก็ได้ แล้วพี่ก็เอาต้นไม้ที่พี่ห่อไปโยนให้เขาดู เขาเลยยอมรับที่จะส่งต้นไม้ให้ ถ้าลูกค้าที่รับพบว่าต้นไม้มีการเสียหาย พี่จะส่งต้นใหม่ให้เลย แค่ถ่ายรูปมา ปีนั้นพี่ส่งขาย ต้นละ 1 บาท ส่งหมากแดงไปได้ 5 ล้านต้น ^^ ทำมองกลับที่ตัวเอง ปัญหาที่เกิดไม่ได้ให้คนอื่นเปลี่ยนวิธีคิดหรือมุมมอง แต่เราต้องเริ่มปรับที่ตัวเรา ทุกวันนี้การบรรจุหีบห่อในการจัดส่งต้นไม้ก็มีการปรับและหาวิธีใหม่ๆ เรียกว่าพัฒนาตลอดไม่หยุดกับที่

สองคืนสุไหงโก-ลก กับ หนึ่งคืนที่บาเจาะ เข้าใจคำว่า “บ้าน” บ้านที่อบอุ่น บ้านที่อยู่ตั้งมาตั้งแต่เกิด บ้านที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ บ้านที่มีเพื่อนข้างบ้าน คนไกลบ้านอย่างเราก็เห็ดชัดว่าเป็นสีชมพู พวกเขากอดกันแน่น และเข้าใจกันดี ลีบอกว่า เรื่องของเรา คือ เราเป็นพี่เป็นน้องเป็นเพื่อน ไทย-พุทธ-มุสลิม เราเอื้อเฟื้อกันแบบนี้มานานแล้วครับ

แจนแจนถึงกับติดใจชวนแก๊งไอติมไปเบตงอีกครั้ง ลีบอกจะไปทำการบ้านเส้นทางและสถานที่น่าแวะ ใครสนใจ ลงชื่อไว้นะ จะได้ส่งข่าวบอกว่าวันไหน

ขอบคุณพี่เตริด์ ที่ปูทางมิตรภาพไว้ให้อย่างดีเมื่อปีก่อน ขอบคุณพี่กุง ที่ดูแลเราสองคนอย่างกับลูกหลาน ขอบใจลีและแก๊งไอติมที่พาเที่ยว